วิธีการเลี้ยงปูนา แบบง่ายๆสบายรายได้ดี

957

การเพาะเลี้ยงปูนาในบ่อปูน เลี้ยงปูนา

ปูนาเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับเราคนไทยมาช้านานน่ะค่ะ เพราะว่าปูนาหาง่ายในสมัยก่อน และในปัจจุบันเมนูของปูนาก็มีมากมายที่หลายๆท่านนำมาทำเป็นอาหาร ทั้งต้ม,ปี้ง,ย่าง หรือเมนูที่ผู้เขียนโปรดปรานก็จะเป็นยำปูนาใส่มะม่วงรสแซ่บๆเผ็ดๆพูดมาแล้วน้ำลายไหลเลยค่ะ ปูนาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แต่ในนาเหมือนชื่อแล้วค่ะ

[adinserter block=”2″]

ทุกวันนี้มีการเพาะเลี้ยงปูนาไว้เป็นอาหารและก็ทำเป็นอาชีพกันมากมาย ผู้เขียนก็เลยมีเคล็ดลับและวิธีการเลี้ยงปูนาแบบง่ายๆ วิธีการเลี้ยงปูนาในบ่อปูน หรือเลี้ยงปูนาในบ่อดิน เลี้ยงในบ้านที่มีพื้นที่น้อยๆมาฝากกันค่ะ ติดตามเคล็ดลับและวิธีการด้านการเกษตรทุกชนิด ได้ที่นี่ Baannoi.com

วิธีเลี้ยงปูนา
เลี้ยงปูนา

ปูนาผัดผงกะหรี่ รสชาติไม่แพ้ปูทะเลราคาต่างรสชาติไม่ต่างกันเลยค่ะ

ในอดีตตั้งแต่สมัยยังเด็กๆของผู้เขียนหรือผู้อ่านหลายท่านที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด จะคุ้นเคยกับปูนาตัวเล็กๆที่พ่อแม่เก็บมาจากไร่จากสวนจากทุ่งนามาฝาก เอามาปี้งย่างหรือเอามาดองเก็บไว้ใส่ส้มตำก็แซ่บน้ำตาไหลเลย คิดถึงแล้วก็นึกถึงวันวาน

ในปัจจุบันปูนาที่อยู่ในท้องนาจริงๆก็ยังมีให้เห็นนะคะ แต่ว่าจะน้อยกว่าแต่ก่อนนิดหน่อยเพราะว่าเจอสารเคมีจากปุ๋ยหรือเจอยาปราบศัตรูพืชบ่อยๆก็ลดน้อยถอยลงไปบ้าง ปัจจุบันก็มีชาวบ้านหรือเกษตรกรที่มีพื้นที่ได้ปรับพื้นที่ทำการเพาะพันธ์ุเลี้ยงปูนาเพื่อจำหน่าย และราคาะปูนาก็น่าสนค่ะ เพราะปูนาเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องจึงไม่เป็นที่น่าห่วงสำหรับผู้เพาะเลี้ยงว่าจะไม่มีตลาดรองรับ ทั้งขายแบบปูนาเป็นๆ หรือจะดองเป็นปูดองไปขายก็ได้ราคาเพิ่มขึ้่นอีก

สำหรับท่านที่มีพื้นที่น้อย หรืออยากลงทุนเลี้ยงปูนาแบบไม่ใช้ต้นทุนสูงมากนักและทำให้การดูแลรักษาง่ายอีกด้วยค่ะ การเลี้ยงปูนามีวิธีการเลี้ยงได้หลายวิธีด้วยกันค่ะ

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์เลี้ยงได้ทั้งในบ่อกลมและบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้า 

  • ข้อดีของการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ก็คือ ดูแลง่ายปูนาไม่ไต่หนีใช้พื้นที่ไม่มากมีแค่พื้นที่เล็กๆ ก็สามารถเพาะเลี้ยงได้แล้ว

การเลี้ยงปูนาในบ่อดิน

  • สำหรับการเลี้ยงปูนาในบ่อดิน ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์และก็ต้องมีพื้นที่เพื่อที่จะขุดบ่อเพราะพื้นที่ในการเลี้ยงปูนาแบบบ่อดินนั้น ต้องมีอวนมุ้งตาถี่ล้อมรอบบ่อเพื่อป้องกันปูนาไต่หนี แต่ข้อสำคัญของบ่อเลี้ยงปูนาแบบในบ่อดินคือ ประมาณ 3ใน4 ของพื้นที่ของบ่อดินควรเป็นดินสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้ปูนาได้ขุดรูอยู่ด้วยค่ะ ส่วนที่เป็นพื้นที่ดินนี้จะลาดเข้าหาอีกส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำ

มาดูเคล็ดลับการเลี้ยงกันเลยนะคะ การเตรียมบ่อเลี้ยงปูนา แบบเลี้ยงในบ่อปูนกลมหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า

  • สำหรับท่านที่เลี้ยงในบ่อปูนกลมหรือสี่เหลี่ยมที่มีความกว้าง 2เมตรยาว 3 เมตร สูง 1 เมตร ให้หาท่อพีวีซี จำนวน 2 ท่อ มาใส่ไว้ในบ่อเพื่อทำเป็นที่ระบายน้ำออกจากบ่อด้วยนะคะ
  • ในกรณีที่ทำบ่อใหม่ให้ใส่น้ำลงไปเพื่อลดความเค็มจากปูนซีเมนต์ในบ่อแช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 วันแล้วถ่ายน้ำออก ใส่ต้นกล้วยลงไปแช่น้ำในบ่อทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ใส่เกลือสินเทาลงไปในบ่อด้วยก็ได้ค่ะ หรือน้ำส้มสายชูประมาณ 2-3 ถ้วย แล้วถ่ายน้ำทิ้ง 
  • หลังจากนั้นให้นำดินมาใส่ลงไปในบ่อปูนให้มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือใส่ได้ตามปริมาณของบ่อหรือสภาพพื้นที่ค่ะ 
  • ควรตั้งบ่อไว้ในที่ร่มเพราะปูนาไม่ชอบอากาศที่ร้อน ถ้าอากาศร้อนมากๆจะทำให้ปูตายได้แต่ถ้าไม่มีที่ร่มก็ให้ทำตาข่ายพรางแสงหรือหลังคาใส่ตรงบ่อ 
  • ใส่ท่อหรือแผ่นกระเบื้อง,อิฐบล๊อคเพื่อให้ปูจะได้มีแหล่งที่ซ่อนตัวและหลบภัยเพราะว่าปูนานั้นมีนิสัยชอบทำร้ายกันเอง 
  • ทำตาข่ายปิดปากบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้ปูปีนหนี

สำหรับบ่อใหม่ให้แช่ต้นกล้วยและเกลือ20-30 วันจะเป็นการลดความเค็มของปูน(เทคนิคคล้ายๆกับการเลี้ยงกุ้งฝอย)

เตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย

ใส่ดินโคลนและวางท่อหรืออิฐไว้ให้ปูได้หลบซ่อนตัว

 สำหรับการเตรียมบ่อเลี้ยงปูนาในบ่อดิน

  • หากท่านใดมีบ่อเก่าที่เคยใช้งานมาก่อนแล้วเช่นเคยขุดบ่อเลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาก่อนหน้านั้นก็สามารถนำมาเลี้ยงปูนาได้โดยไม่ต้องขุดบ่อใหม่ จัดการบ่อให้มีสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด เช่นปลูกข้าว,ผักบุ้ง,หญ้า,จอกแหน,สาหร่าย ปูนาจะได้มีแหล่งอาหารทางธรรมชาติและก็จะได้เป็นที่หลบซ่อนของปูได้อีกด้วย
  • ใส่น้ำที่ใส่ดินโคลนลงไปแล้วประมาณ 30 เซนติเมตร
เตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย
บ่อพลาสติก

บ่อนี้เป็นบ่อเดิมที่เคยใช้งานก็ทำความสะอาดแล้วก็ใส่ดินแล้วก็ปลูกพืชน้ำใส่เลียนแบบธรรมชาติก็สามารถเลี้ยงปูนาได้แล้ว

เตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย

ปลูกพืชน้ำใส่เพื่อเป็นอาหารของปูและเป้นที่หลบซ่อนให้ปูนาไปในตัว

 เคล็ดลับการดูแลและวิธีการเลี้ยงปูนา

  • สำหรับท่านที่ต้องการคัดพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุปูนา ให้นำปูนาที่ได้มาจากแหล่งแม่น้ำธรรมชาติโดยเลือกขนาดความยาวของปูนาที่มีลำตัวประมาณ 4 เซนติเมตร คัดเอาแต่ตัวที่แข็งแรงและมีขาที่ครบสมบูรณ์มาปล่อยลงในบ่อที่เตรียมไว้ ให้ใช้ปูนาตัวผู้ 25 ตัวและปูนาตัวเมีย 25 ตัวต่อบ่อ
  • การให้อาหารปูนา ให้อาหารสัปดาห์ละ 3 ครั้งอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนาได้แก่ ข้าวสุกจะเป็นข้าวสวยหรือข้าวเหนียวก็ได้ ปลาให้สับเป็นชิ้นเล็กๆกุ้งฝอย,ผักสดเช่นผักบุ้งหรือผักกาด
  • ไม่ควรให้อาหารปูมากเกินไปและต้องคอยหมั่นสังเกตุดูว่าให้อาหารแค่ไหนปูถึงจะกินหมดเพราะถ้ามีอาหารเหลือก็จะทำให้อาหารเน่าเสียได้ หากอาหารเหลือให้เก็บออกอย่าทิ้งไว้ให้เน่าคาบ่อเพราะจะทำให้ปูไม่แข็งแรงทำให้เป็นโรคได้
  • การระบายน้ำนั้นต้องระบายน้ำออกจากบ่อและเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน

 วิธีการเลี้ยงและดูแลปูนาที่อยู่วัยเจริญพันธ์ุและลูกปู

  • ปูนาจะผสมพันธ์ุกันในช่วงฤดูฝน แม่ปู 1 ตัวจะมีไข่ประมาณ 500-700 ฟอง ดังนั้นปูนา 1 ตัวจะออกลูกได้ประมาณ 500-700 ตัว
  • การเจริญพันธ์ุปูนาจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงจะโตเต็มที่
  • กรณีที่ลูกปูเริ่มตั้งแต่นำเลี้ยงใส่ในบ่อ ให้อาหารโดยลูกปูที่มีช่วง 15 วันแรกควรให้ไรแดง,หนอนแดง,เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร
  • หลัง 15 วันให้ปลาสับหรือกุ้งฝอย,อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก 
  • เมื่อลูกปูมีอายุได้ 30 วันก็สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อปูนเพื่อให้มีขนาดโตเต็มวัย
  • ถ้ามีเนื้อที่ ที่ทำเป็นบ่อดินหรือบ่อปูนที่มีขนาดใหญ่สามารถปล่อยลงเลี้ยงได้ทีละปริมาณ 10,000 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร
  • ปูนามีการลอกคราบเหมือนสัตว์น้ำชนิดเดียวกันเหมือนกับกับสัตว์จำพวกกุ้งหรือปูชนิดอื่น หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะทำการลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูนาเต็มวัย สามารถได้ขนาดตามที่ท้องตลาดต้องการระยะเวลาก็จะอยู่ประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป

แม่ปูกำลังมีไข่เต็มท้อง แม่ปูตัวหนึ่งสามารถมีลูกปูได้มากถึง 500-700 ตัว

วิธีเลี้ยงปูนา

ปูนาตามแหล่งธรรมชาติตัวเล็กตัวใหญ่สามารถคัดมาเลี้ยงตอนเป็นลูกปู ตัวใหญ่ก็คัดแยกมาเป็นแม่พันธ์ุได้

 วิธีการสังเกตการลอกคราบของปูนา

  • ปูนาที่จะมีการลอกคราบให้เราสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก
  • ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายของปูนาจะออกมาก่อนส่วนอื่นๆ ขาคู่ถัดมาจะค่อยๆโผล่ออกมาตามลำดับส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ปูนาจะใช้ระยะเวลาในการลอกคราบโดยประมาณ 1 ชั่วโมง

การเลี้ยงปูนาก็จะมีเคล็ดลับหรือว่าวิธีการเลี้ยงคล้ายๆกันกับการเลี้ยงกุ้งฝอยหรือกุ้งก้ามแดงนะคะ การดูแลการให้อาหารคล้ายๆกันถ้าท่านไหนมีพื้นที่ หรือว่าสนใจจะทำเป็นกิจกรรมวันว่างหรืองานอดิเรกก็ลองศึกษาและก็หาพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุหรือว่าลูกปูนามาเลี้ยงดูนะคะ ราคาของปูนาก็เป็นที่น่าสนใจพอใช้ได้

ต้นทุนในการเลี้ยงก็ไม่สูงการดูแลก็ไม่ยุ่งยากหากแต่ว่าต้องให้ความใส่ใจเค้าหน่อยเท่านั้นเอง ไม่แน่นะคะเผื่อลองเลี้ยงเป็นงานอดิเรกแล้วอาจติดใจในการสร้างรายได้เสริมกับการเลี้ยงปูนาหันมาทำเป็นอาชีพหลักก็เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย ติดตามเคล็บลับและวิธีการด้านการเกษตรทุกชนิด ได้ที่นี่ Baannoi.com