การเลี้ยงไก่ดำKU-ภูพาน สายพันธ์ุใหม่

113

การเลี้ยงไก่มีหลากหลายวิธีการเลี้ยง เพราะว่าไก่นั้นมีมากมายหลายสายพันธ์ุกันเลยทีเดียวครับ มีทั้งเลี้ยงเพื่อขายเนื้อ,เลี้ยงไก่พันธ์ุไข่ หรือแม้กระทั่งเลี้ยงไก่ชนก็มีเยอะเหมือนกันครับ วันนี้ผู้เขียนจะมาว่ากันเรื่องไก่ดำครับไก่ดำจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรที่ต้องการเพาะพันธ์ุหรือเลี้ยงเพื่อจำหน่าย ไก่ดำที่ผูัเขียนนำข้อมูลมาเสนอกันวันนี้คือ ไก่ดำสายพันธ์ุ เคยู-ภูพานครับ ติดตามข้อมูล และเทคนิคดีๆเกี่ยวกับการเกษตรทุกรูปแบบได้ที่นี่ Baannoi.com

[adinserter block=”2″]

ไก่ดำมีทั้งแบบดำทั้งขนจนถึงกระดูกก็มีครับ และมีแบบไก่ดำแต่ขนขาวก็มี ไก่ดำเป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากมองโกลเลีย มีลักษณะที่สวยงามและปัจจุบันสถาบันด้านการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วไปจะนำมาผสมเป็นไก่ดำพันธ์ุผสม แต่ก็ยังคงคุณสมบัติของไก่ดำ คือจะมีเนื้อสีดำและคุณสมับติหลักๆก็คือ ปาก,ลิ้น,หงอน,เล็บ,แข้งขา,กระดูก,เครื่องใน ทุกส่วนจะเป็นสีดำหมด ซึ่งคนนิยมนำมาทำตุ๋นยาจีนเพราะเชื่อในด้านสมุนไพรบำรุงกำลังชั้นดี ส่วนเรื่องขนของไก่นั้นไม่มีความจำเป็นต้องเป็นสีดำทั้งหมดครับ 

ไก่ดำKU-ภูพาน คือไก่ดำพันธ์ุผสม ที่พัฒนาสายพันธ์ุจาก คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ทำการรวบรวมไก่ดำที่มีเกษตรกรทำการเพาะเลี้ยงในสายพันธ์ุมองโกลเลีย ที่มีลักษณะรูปร่าง โครงสร้างใหญ่ตัวใหญ่ ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการรวบรวมมาและได้ทำการสร้างฝูงขึ้นมาใหม่ มาพัฒนาสายพันธ์ุไก่ดำใหม่ ทำการคัดเลือกและพัฒนาให้สายพันธ์ุไก่ดำโตเร็วขึ้น ไข่ดกขึ้นและก็ทนต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น จึงได้เกิดไก่ดำที่พัฒนาสายพันธ์ุแล้วเป็นไก่ดำKU-ภูพาน หรือไก่ดำขนขาวนั่นเองครับ

ไก่ดำKU-ภูพาน ได้พัฒนาสายพันธุ์มาจากไก่ดำมองโกลเลีย หรือทำพัฒนาสายพันธ์ุใหม่ให้ได้ สายพันธ์ุที่ดีขึ้นกว่าเดิมจึงได้เรียกไก่ดำผสมพันธ์ุใหม่นี้ว่า ไก่ดำKU-ภูพานครับ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้ทำการรวบรวมคัดพันธ์ุไก่ดำจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำสายพันธ์ุมองโกลเลียทั่วประเทศเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 และได้ทำการคัดเลือกและสร้างฝูงเพื่อพัฒนาสายพันธ์ุใหม่ เมื่อปี 2555 ซึ่งเมื่อก่อนการเลี้ยงไก่ดำจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 4-5 เดือน ถึงจะสามารถส่งขายได้ ปัจจุบันเลี้ยงเพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็สามารถชำแระส่งขายสู่ตลาดได้แล้วครับ

ส่วนในด้านแม่พันธ์ุที่ให้ผลผลิตไข่ เมื่อก่อนจะออกไข่ต่อปีต่อตัวอยู่ที่80ฟองต่อตัวต่อปี แต่ปัจจุบันเมื่อพัฒนาสายพันธ์ุแล้ว เฉลี่ยการออกไข่อยู่ที่ 120ฟองต่อตัวต่อปี กันเลยทีเดียวครับ

ว่ากันเรื่องไก่ดำนั้นทั้งตัวผู้เขียนเองและผู้คนทั่วไป จะคิดว่าไก่ดำจะต้องดำทั้งตัวคือขนสีดำอะไรประมาณนั้น ชื่อเดิมของไก่ดำนั้นคือ “ไก่กระดูกดำ” ซึ่งไก่ดำจะมีกระดูกที่ดำมากมากจนซึมเข้ามาถึงกล้ามเนื้อและผิวหนังและขนของไก่ดำ

ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึงทำการพัฒนาสายพันธ์ุไก่ดำโดยอาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ ก็ได้คัดเอาไก่ดำสายพันธ์ุมองโกเลีย ที่มีลักษณะไก่ดำขนสีขาว ซึ่งเกิดจากยีนส์ด้อยของสายพันธ์ุ อาจารย์ภานุวัฒน์ได้กล่าวไว้ว่า ที่ได้เลือกเอาไก่ดำขนสีขาวมาพัฒนาสายพันธ์ุใหม่นั้นจะง่ายกว่าการคัดเอาไก่ดำ ที่มีขนสีดำหรือไก่ดำที่มีขนสีแดงผสมกันจะทำการพัฒนาสายพันธ์ุได้ช้ากว่า และเมื่อไก่ดำเมื่อมีขนสีขาวก็จะกลายเป็นของแปลกไปและยังจัดเป็นประเภทไก่สวยงามด้วยครับ

ไก่ดำเคยู ภูพาน เมื่อได้มีการพัฒนาสายพันธ์ุเรียบร้อยแล้วนั้น จะมีความแตกต่างจากไก่ดำทั่วไป คือการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตได้ถึงสองเท่าของไก่ดำทั่วไป เลี้ยงง่ายโตไว ทนต่อโรคอันนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ

ลักษณะเอกลักษณ์ของไก่ดำเคยู ภูพาน ตัวผู้ จะมีหงอนที่ตั้งตรง เหนียงจะไม่ยานหน้าอกจะตั้งตรงเพราะว่ามีเนื้อเยอะ ขาจะใหญ่และสั้นเพื่อที่จะรองรับน้ำหนักตัวของเค้าได้เป็นอย่างดี

ไก่ดำKU-ภูพานไก่ดำKU ภูพานตัวผู้ หงอนตรงเหนียงไม่ยานครับ 

ลักษณะขาของไก่ดำKU ภูพานตัวผู้ ขาจะใหญ่และสั้นเพื่อรองน้ำหนักตัวของเค้าครับ  

ส่วนไก่ดำเคยู ภูพาน ตัวเมีย จะมีลักษณะหงอนเล็ก,หน้าดำ ลักษณะตัวจะมีลักษณะตัวเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อยครับ

ไก่ดำKU ภูพาน ตัวเมีย หงอนเล็ก หน้าดำ ตัวเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย 

วิธีการผสมพันธ์ุ ไก่สายพันธ์ุ KU-ภูพาน ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการวิจัยโดยการ ใช้วิธีผสมเทียม ซึ่งการผสมพันธ์ุไก่ดำของทางมหาลัยเกษตรแห่งนี้ทำได้ง่ายๆ เพราะไก่ดำตัวผู้จะมีการเซนซิทีฟกับการถูกลูบหลัง เจ้าหน้าที่จะทำการลูบหลังไก่ตัวผู้แล้วหาแก้วเล็กๆหรือถ้วยมารองรับน้ำเชื้อของไก่ตัวผู้ พอได้น้ำเชื้อของไก่ดำตัวผู้แล้ว ก็จะนำน้ำเชื้อไปทำการเจือจางด้วยน้ำเกลือที่ใช้สำหรับล้างแผลทั่วไปนั่นแหละครับ อัตราส่วนในการเจือจางก็คือ น้ำเชื้อของไก่ดำ 1 ส่วนต่อน้ำเกลือ 3 ส่วน การผสมน้ำเชื้อเข้าสู่ไก่ดำตัวเมียก็จะทำโดยการเลียนแบบธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จะทำการเขย่าตัวของไก่ตัวเมียแล้วก็จะนำน้ำเชื้อใส่ไซลิ้งฉีดเข้าไปในรังไข่ของไก่ตัวเมีย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการผสมเทียมของไก่ดำแล้วครับ

ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้มีเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายเพิ่มมากถึง 65 รายภายในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของทางมหาวิทยาลัย ก็ได้ทำการเลี้ยงตั้งแต่อนุบาลไก่ดำ จนถึงเพาะพันธ์ุเพื่อขายลูกไก่ดำสายพันธ์ุKu-พูพาน ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี ถึงรายได้ และผลกำไรที่ได้รับว่าเลี้ยงง่ายและใช้เวลาไม่นานเหมือนเลี้ยงไก่ทั่วไปครับ

ไก่ดำKU-ภูพาน

ภาพถ่ายจากโรงเรือน ของเกษตรกรที่อำเภอวานร ทำการเพาะเลี้ยงตั้งแต่รุ่นอนุบาลไก่ครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจต้องการเลี้ยง ไก่ดำKU-ภูพาน และต้องศึกษาหรือขณะนี้เลี้ยงไก่ดำอยู่แล้วต้องการเข้าร่วมโครงการกับ ทางมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ก็สามารถโทรสอบถามข้อมูลได้ทีคณะเกษตรโดยตรง หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 042-725042 ซึ่งไก่ดำKU-ภูพาน นี้ได้รับคำยืนยันจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจริงแล้วว่า ไก่ดำสายพันธ์ุนี้ เลี้ยงง่าย โตไว ทนต่อโรค และให้ผลผลิตเร็ว จริงๆครับ 

ถ้าสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ตามเบอร์โทรข้างต้น หรือติดต่อที่มหาวิทยาลัยได้เลยน่ะครับ เป็นเรื่องที่สนใจเลยทีเดียวสำหรับเกษตรกรท่านที่กำลังเลี้ยงไก่ดำอยู่แล้ว ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยน่ะครับ ติดตามเรื่องราวและ เทคนิคดีๆด้านการเกษตรทุกเรื่องได้ที่นี่ Baannoi.com

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากเกษตรศาสตร์ นำไทย